วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

5 ต้นไม้กันงูควรปลูกไว้ในสวน ช่วยป้องกันงูเข้าบ้านได้ !





ต้นไม้กันงู 5 ชนิดควรปลูกไว้ในสวน อยากรู้ว่างูกลัวต้นไม้อะไร มาดูต้นไม้กันงู 5 ชนิด ที่สามารถช่วยป้องกันงูเข้าบ้านได้พร้อม ๆ กันเลยค่ะ 



          ในช่วงที่ฝนตกชุก ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำท่วมเท่านั้นที่ทำให้รู้สึกกังวล แต่ยังต้องระวังเรื่องงูเข้าบ้านด้วย ในวันนี้กระปุกดอทคอมเลยจะชวนทุกคนไปปลูกต้นไม้เหล่านี้กัน ซึ่งก็คือ ต้นไม้ไล่งู นั่นเอง อยากรู้ว่างูกลัวต้นอะไร ปลูกต้นไม้ชนิดใดจะช่วยป้องกันงูเข้าบ้านได้บ้าง นำมาจัดสวนก็ดี เพราะมีทั้งใบ ผล และดอกสวย ๆ ให้ชม สำหรับบางชนิดยังจัดอยู่ในกลุ่มสมุนไพรมีฤทธิ์ทางยาช่วยรักษาโรคได้ด้วยล่ะ 
 
1. จิงจูฉ่าย

          ต้นจิงจูฉ่าย มีอีกชื่อว่า ต้นโกฐจุฬาลัมพา หรือ ต้นเหี่ย เป็นต้นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก อายุประมาณ 1 ปี ความสูงประมาณ 45-120 เซนติเมตร มีเหง้าติดพื้นหรืออยู่ใต้ดิน ลำต้นตรง กลม มีร่องและมีขนขึ้นปกคลุม แตกกิ่งก้านตามต้น ออกใบเรียงสลับกัน ลักษณะใบคล้ายผักชี ปลายใบแหลมและแตกเป็นแฉก หน้าใบเรียบสีเขียว หลังใบสีเทา-เขียว มีขนขาวขึ้นเล็กน้อย ความกว้างใบ 1.5-9 เซนติเมตร และยาว 2.5-10.5 เซนติเมตร มีดอกขนาดเล็กสีขาวหรือแดง ความยาวประมาณ 3.5-5 มิลลิเมตร ออกผลรูปไข่ ทรงกลมรี ผิวเกลี้ยงไม่มีขน ขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด

ต้นไม้กันงู
2. กุยช่ายประดับ 

          กุยช่ายประดับ หรือ กุยช่ายม่วง เป็นไม้ยืนต้น อายุนานหลายปี ความสูงประมาณ 60 เซนติเมตร มีหัวใต้ดิน ขึ้นเป็นกอ ลักษณะใบเรียวยาว แบน ปลายแหลม ความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ออกดอกสีม่วงลักษณะคล้ายดาวหกแฉก มีกลิ่นคล้ายกุยช่ายทั้งที่ดอกและใบ ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันยุงและหมัดเข้าบ้าน ยังสามารถทำให้งูไม่กล้าเข้ามาในเขตบ้านและสวนของเราได้ด้วย 

ต้นไม้กันงู
3. ดาวเรือง 

          ดาวเรือง จัดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุประมาณ 1 ปี ความสูงประมาณ 60-100 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรง สีเขียว เป็นร่อง แตกกิ่งบริเวณโคนต้น ใบมีลักษณะคล้ายขนนก ออกเรียงตรงข้ามกัน มีใบย่อยประมาณ 11-17 ใบ เป็นรูปรี ปลายแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเป็นซี่ ความยาว 2.5-5 เซนติเมตร ออกดอกเดี่ยว มีทั้งสีเหลืองและสีเหลืองปนส้ม กลีบดอกมีขนาดใหญ่ซ้อนกันหลายชั้นเป็นวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-10 เซนติเมตร ความกว้าง 0.5-1.5 เซนติเมตร มีผลแห้งสีดำ ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดดาวเรือง เป็นหลัก นอกจากนี้กลิ่นของดาวเรืองยังรบกวนการจู่โจมของงู ส่วนยางในลำต้นก็มีฤทธิ์ระคายเคืองผิวและทำให้สายตาของงูพร่าเลือนได้ 

ต้นไม้กันงู
4. ฟ้าทะลายโจร 

          ฟ้าทะลายโจร หรือ หญ้ากันงู เป็นไม้ล้มลุก ความสูง 50 เซนติเมตร ลำต้นเหลี่ยม ใบเลี้ยงเดี่ยว ผิวใบเกลี้ยง ออกสลับตรงข้าม ทรงใบรีและแคบ ความยาว 1.5-7 เซนติเมตร ความกว้าง 1-2.5 เซนติเมตร ออกดอกที่ซอกใบบริเวณปลายยอด มีสีขาว ความยาวประมาณ 0.9-1.5 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็ก ปลายกลีบดอกแตกเป็นแฉก มีผลแห้ง ทรงรี คล้ายฝักต้อยติ่ง มีรสขมทุกส่วนของต้น ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด หากตัวงูถูกับรากหรือใบจะทำให้ผิวหนังเกิดอาการปวดบวม

ต้นไม้กันงู
5. ระย่อม

          ต้นระย่อม จัดเป็นไม้พุ่มเตี้ย ผลัดใบในฤดูแล้งและผลิใบในฤดูฝน ความสูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร ลำต้นคดงอ เปลือกสีขาวหรือสีน้ำตาลอมเทา มียางสีขาว มักมีรอยแผลตามลำต้น  มีใบเดี่ยวออกสลับตรงข้าม ขึ้นหนาแน่นที่ปลายยอด ใบทรงรีคล้ายหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ สีเขียวเข้มผิวมัน ความยาว 12-20 เซนติเมตร ความกว้าง 5-8 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด ตั้งแต่ 1-50 ดอก ปลายกลีบสีขาว โคนกลีบสีชมพูหรือแดงเข้ม มีผลรูปทรงกลม ผิวเรียบ ฉ่ำน้ำ ขนาดประมาณ 1-1.8 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกจะกลายเป็นสีม่วงแดงหรือดำ ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด อีกทั้งต้นระย่อมนี้ยังมีฤทธิ์รบกวนระบบประสาทและระบบหัวใจของงูอีกด้วย

ต้นไม้กันงู
          หน้าฝนนี้ก็อย่าลืมจัดสวนกันใหม่ แล้วก็อย่าลืมปลูกต้นไม้กันงูกันไว้ด้วยนะคะ อย่างน้อยก็อุ่นใจว่ามีตัวช่วยป้องกันงูไม่ให้เข้าบ้าน แถมยังทำให้สวนของเราดูสดชื่น สวยงาม เขียวขจีมากขึ้นด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก dentecpest, slayallpest, finegardening, homeguides, medthai/โกฐจุฬาลัมพา , medthai/ดาวเรืององค์การสวนพฤกษศาสตร์การยางแห่งประเทศไทยmedthai/ระย่อมpharmacy.mahidol.ac.th

อุบัติเหตุฉุกเฉินใช้สิทธิ UCEP รักษาฟรี 72 ชม.ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย


อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินหากเกิดขึ้นกับเราหรือคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะที่ไหน เมื่อไร รู้ไหมคะว่าเราสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลฟรีได้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศไทยเลย โดยสิทธินั้นมีชื่อว่า UCEP ดังนั้นเพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง กระปุกดอทคอมจะพามารู้จักสิทธิ UCEP ว่าคืออะไร เจ็บป่วยฉุกเฉินกรณีไหนที่เข้าเกณฑ์ UCEP บ้าง ตามมาอ่านกันเลย
สิทธิ UCEP คืออะไร
UCEP คือ นโยบายหนึ่งของรัฐบาล โดย UCEP ย่อมาจาก Universal Coverage Emergency Patients หรือแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” ดังนั้นแม้จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่เราไม่มีสิทธิอะไรเบิกได้เลย ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม หรือกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เราก็สามารถใช้สิทธิ UCEP ได้
เนื่องจาก UCEP มีขึ้นมาเพื่อลดการเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาล และช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิในการเข้าถึงการบริการอย่างปลอดภัยโดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล ทั้งนี้ UCEP จะคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตภายใน 72 ชั่วโมง หรือเมื่อผู้ป่วยพ้นภาวะวิกฤตแล้ว อย่างไรก็ตาม สิทธิ UCEP จะคุ้มครองเฉพาะกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเท่านั้นนะคะ
6 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่ใช้สิทธิ UCEP ได้
เกณฑ์ UCEP ที่ระบุว่า “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” จะคุ้มครองในกรณีเจ็บป่วยดังต่อไปนี้
1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม
4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง
5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
6. มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันต รายต่อชีวิต
อย่างไรก็ดี ประชาชนที่จะใช้สิทธิ UCEP ได้ ต้องเป็นผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ และเป็นโรงพยาบาลนอกคู่สัญญากับกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิ ไม่ใช่โรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีสิทธิของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม หรือกรมบัญชีกลาง
เราจะใช้สิทธิ UCEP ได้อย่างไร
ขั้นตอนในการใช้สิทธิ UCEP มีดังนี้
– ตรวจสอบสิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษาพยาบาลที่ตนเองมี โดยสามารถตรวจสอบสิทธิได้ ณ โรงพยาบาลทุกแห่ง หรือสำนักงานเขต หรือ โทร. 1330 สายด่วน สปสช. เพื่อสอบถามสิทธิการรักษาพยาบาลของเราได้
– กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ และเป็นโรงพยาบาลนอกคู่สัญญากับโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีสิทธิให้แจ้งโรงพยาบาลรับทราบว่า ขอใช้สิทธิ UCEP
– โรงพยาบาลจะทำการประเมินอาการผู้ป่วยตามหลักเกณฑ์ของ UCEP ทว่าหากมีปัญญาในการคัดแยกให้ปรึกษาศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของ สพฉ. ได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่หมายเลข 0-2872-1669
– เมื่อโรงพยาบาลประเมินอาการผู้ป่วยแล้วจะแจ้งผลการประเมินให้กับผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยรับทราบ
– หากเข้าเกณฑ์ UCEP ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการตามระบบ UCEP ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมง หรือเมื่อพ้นภาวะวิกฤต
– ในกรณีที่ผลการประเมินไม่เข้าหลักเกณฑ์ USEP ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลเองหากต้องการรักษาในโรงพยาบาลเดิมที่ตัวเองไม่มีสิทธิการรักษาพยาบาลใด ๆ
UCEP รักษาฟรี 72 ชั่วโมงเท่านั้นหรือ
ตามเงื่อนไขของ UCEP ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลนอกเครือข่ายได้ฟรีภายใน 72 ชั่วโมง โดยนับจาก สพฉ. รับผู้ป่วยเข้าระบบ UCEP แล้ว สพฉ. จะดำเนินการแจ้งให้กองทุนเจ้าของสิทธิทราบโดยเร็ว เพื่อให้กองทุนเจ้าของสิทธิดำเนินการประสานไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดของผู้ป่วยให้ดำเนินการรับย้ายผู้ป่วยเข้าสู่ระบบปกติให้ทันภายใน 72 ชั่วโมง หลังจากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน และผู้ป่วยก็จะได้ใช้สิทธิรักษาตามที่ตนมีในโรงพยาบาลที่ตัวเองมีสิทธิการรักษาโดยตรง,
ส่วนในขั้นแรกที่เข้ารักษา ณ โรงพยาบาลเอกชน ภายใน 72 ชั่วโมงหรือหลังพ้นภาวะวิกฤต ค่าใช้จ่ายในส่วนนั้น สพฉ. จะเป็นคนดูแลให้ทั้งหมด ผู้ป่วยไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ทว่าการเจ็บป่วยฉุกเฉินนั้นต้องเข้าเกณฑ์ 6 ข้อข้างต้นหรือแล้วแต่แพทย์และทาง สพฉ. จะประเมินอาการว่าเข้าข่ายเบิก UCEP ได้นะคะ
หากโรงพยาบาลต้นสังกัดไม่สามารถรับตัวไปรักษาต่อได้ ต้องทำอย่างไร
ในกรณีที่โรงพยาบาลต้นสังกัดสิทธิในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยเกิดความขัดข้อง ไม่สามารถรับตัวผู้ป่วยไปรักษาต่อได้ เคสนี้ทางศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของ สพฉ. จะแจ้งไปยังกองทุนต่าง ๆ เพื่อให้ดำเนินการตามเงื่อนไขของกองทุนนั้น ๆ ต่อไป
นับเป็นสิทธิประโยชน์ดี ๆ ในกรณีที่เจ็บป่วยฉุกเฉินและวิกฤตจริง ๆ อย่าลืมนะคะว่าเราสามารถใช้สิทธิ UCEP ได้ ดังนั้นหากเกิดอาการเจ็บป่วยวิกฤตฉุกเฉิน ให้รีบนำตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือ โทร. 1669 สายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้เลย

ขอบคุณข้อมูลจาก https://health.kapook.com/view198935.html