วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ปัญหาการบริโภคเนื้อสัตว์ โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ บาป หรือ ไม่บาป



ปัญหาการบริโภคเนื้อสัตว์ โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ


ผู้ถาม : ” เรื่องการถวายอาหารพระนะครับหลวงพ่อ เวลาอุบาสิกานำอาหารไปถวายพระ แล้วก็เอาอาหารพวกเนื้อสัตว์ไปถวาย จะบาปไหมครับ…? ”

หลวงพ่อ : ” ถามไม่ละเอียดนี่ อาตมาตอบไม่บาปเลยก็ได้ คือ เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่าแล้วและไปซื้อมา เราไปบังคับให้เขาฆ่าเมื่อไรละ ใช่ไหม…? ”

ผู้ถาม : ” ถ้าเราไม่กินเขาก็ไม่ฆ่า ”

หลวงพ่อ : ” ถ้าเขาไม่ฆ่าเราก็ไม่ซื้อ เราไม่ซื้อเขาก็ฆ่า เราไม่ซื้อคนอื่นซื้อ เขาก็ฆ่า ถ้าเราสั่งให้เขาฆ่าซิ “วันนี้ไก่ ๓ ตัวนะ” “วันนี้ขอหมูให้ฉัน ๑ ขานะ” “พรุ่งนี้จะแต่งลูกสาว เอาวัว ๓ ตัว หมู๓ ตัวนะ” อย่างนี้บาป ตั้งแต่เริ่มสั่ง พระยายมบันทึกแล้ว บันทึกตั้งแต่สั่งแล้ว ถ้าตายไปก่อน รับวัวรับหมูนะ ลงเลย ”

ผู้ถาม : ” ก็หมายความว่าบาปเฉพาะ คนสั่งฆ่า กับ คนฆ่า…! ”

หลวงพ่อ : ” คนไหนฆ่าสัตว์คนนั้นก็บาป คนไหนสั่งคนนั้นก็บาป เราซื้อที่เขาฆ่ามาขาย กินเท่าไรเราก็ไม่บาป เพราะไม่เป็นบาปพระพุทธเจ้าจึงไม่ห้าม ที่ไม่ห้ามเพราะว่าเขาฆ่าเป็นปกติอยู่แล้ว
คำว่า บาป นี้แปลว่า ชั่ว บุญ แปลว่า ดี ทำชั่วแปลว่าบาป ทำดีเรียกว่าบุญ ทีนี้ชีวิตเขามีอยู่เราไปฆ่าเขา ชีวิตของเรา เราก็ไม่ต้องการให้คนอื่นเขาฆ่า ถ้าเราไปฆ่าเขาเราก็เป็นคนชั่ว ฉะนั้นถ้าเขาไปฆ่ามาแล้ว เราไปซื้อกิน อันนี้ไม่ชั่วเพราะไม่ได้สั่งให้เขาฆ่า แต่ว่าถ้าเอาเนื้อมาแล้วบอก “เฮ้ย พรุ่งนี้เพิ่มหน่อยซีเว้ย” ทีนี้เอาแน่ ต้องว่ากันอย่างนี้นะ ”

ผู้ถาม : ” มีคนเขาบอกว่า การฆ่าสัตว์ คนฆ่าไม่บาปเท่าไรแต่คนกินบาป และเขายังบอกอีกว่า ถ้าไม่กินแล้วใครจะฆ่า ”

หลวงพ่อ : ” คิดเอาเองมากกว่า คนกินเขาไม่ได้สั่งให้ฆ่า นี่เขาฆ่าขาย ถ้ามีขายเขาก็ซื้อกิน จะไปโทษคนกินเขาไม่ได้หรอก ถ้าคนกินสั่งให้เขาฆ่าอันนี้จึงบาป ไม่งั้นพระพุทธเจ้าคงจะห้ามพระฉันเนึ้อสัตว์ นี่เขาว่ากันเอาเอง ไม่ถูกหลักเกณฑ์อะไรหรอก พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ”
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราถือเจตนาเป็นตัวกรรม”
เจตนา แปลว่า ตั้งใจ ถ้าตั้งใจคิดจะฆ่าแล้วลงมือฆ่าอันนี้บาปแน่ “



ที่มา คำสอนหลวงพ่อฤาษี (ลิงดำ)

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น