ลูกไฟหลายลูก หลากสีสันที่ผ่านเข้ามาให้เราได้เห็นได้ชมกันนี้นั้น มันก็คือ ก้อนหินอุกกาบาตหรือเศษเสี้ยวของฝนดาวตกที่ยังหลงเหลือหรือค้างอยู่ในระบบสุริยะของเรา แล้วโลกได้เคลื่อนที่ผ่านพอดี หรืออาจจะเป็นดาวเคราะห์น้อยลูกเล็ก ๆ ที่แวะมาเยี่ยมเยือนโลกของเรา ซึ่งในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาก็ได้มีปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง
ดาวเคราะห์น้อยในซูดาน
ในคืนวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 2008 นักดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแอริโซนาค้นพบวัตถุที่เรียกว่า 8TA9D69 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เมตร ที่ดูเหมือนจะชนเข้ากับโลกของเรา หอสังเกตการณ์อื่นอีกสามแห่งก็มีรายงานการพบวัตถุชิ้นนี้ภายในกี่ไม่กี่ชั่วโมงถัดไป คือ Sabino Canyon ในรัฐแอริโซนา Siding Spring Observatory และเว๊บไซต์ Royal Astronomical Society ประเทศออสเตรเลีย
วัตถุดังกล่าวไม่ได้เป็นอุกกาบาตขนาดใหญ่มากนัก แต่ถึงอย่างนั้นมันก็เป็นครั้งแรกที่เราสามารถสังเกตเห็นวัตถุก่อนที่มันจะเข้ากระทบกับโลก และนักดาราศาสตร์ทั่วโลกต่างก็พากันติดตั้งกล้องโทรทรรศน์เพื่อสังเกตการณ์ก่อนที่มันจะพุ่งเข้าไปในเงาของโลก และยังได้ระบุเกี่ยวกับข้อมูลของสเปกตรัม การโคจร และทิศทางการตกไว้ว่าดาวเคราะห์น้อย 2008 TC3 นี้มันจะพุ่งเข้าชนโลกในเวลาประมาณ 2.45 UTC บริเวณตอนเหนือของประเทศซูดาน
นี้เป็นครั้งที่ที่นักดาราศาสตร์สามารถสังเกตเห็นดาวเคราะห์น้อยก่อนที่มันจะพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกเรา ซึ่งมันทำให้เราได้เพิ่มการตรวจตราและเฝ้าระวังกันมากขึ้นเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมหลายเท่า เพราะมันอาจจะทำให้โลกของเรากลายเป็นเหมือนยุคไดโนเสาร์สูญพันธ์ก็เป็นได้
ลูกไฟสว่างจากราชอาณาจักร
ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ 1.30 ตามเวลาสหรัฐอเมริกา เกิดปรากฏการณ์อุกกาบาตตกบริเวณทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา สามารถมองเห็นได้ทั่วแผ่นฟ้า สามารถพบเห็นได้ตั้งแต่รัฐวิสคอนซินไปจนถึงรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งการโคจรของอุกกาบาตลูกนี้จะโคจรจากทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และไปสิ้นสุดที่ทะเลสาบมิชิแกนในรัฐวิสคอนซิน
คลิปด้านบนเป็นคลิปจากกล้องทางทิศตะวันออกที่อยู่บนตึก Atmospheric, Oceanic & Space Sciences ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน ซึ่งได้บันทึกภาพวัตถุปริศนาที่ลอยลงมาจากฟ้าพร้อมกับแสงสว่างวูบวาบสีเขียวได้ (แต่ในคลิปเป็นสีขาวดำ) แต่อุกกาบาตลูกนี้ก็ได้ถูกทำลายไปโดยชั้นบรยากาศของโลกเราก่อนที่จะตกลงสู่พื้นแล้ว
พูดถึงเรื่องของสีอุกกาบาตหรือดาวเคราะห์น้อยที่มาจากอวกาศอันไกลพ้นแล้วพุ่งชนเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลกเรา เกิดการเผาไหม้จนเราเห็นเป็นแสงสีต่าง ๆ สว่างวูบวาบบนท้องฟ้านั้นนอกอะไรมากมายให้กับเราหลาย ๆ อย่าง หลัก ๆ เลยก็คือ ธาตุที่เป็นองค์ประกอบของอุกกาบาตนั้น ๆ
จากภาพด้านบน อุกกาบาตที่ตกลงมาในวันนั้น ได้ปรากฎว่าเกิดการเผาไหม้แล้วเปล่งแสงสีเขียวสุกไสวบนท้องฟ้า นั้นทำให้เราทราบข้อมูลเบื้องต้นได้ว่าอุกกาบาตลูกนี้มีองค์ประกอบธาตุหลัก คือ แมกนีเซียม นั้นเอง
ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
ในเช้าวันพุธ 1 มกราคม ที่แสนสดใส ครอบครัวหลาย ๆ ครอบครัวก็คงจะพากันออกไปเที่ยว ไปอยู่กับครอบครัวให้สมกับวันหยุดยาวเฉลิมฉลองปีใหม่ แต่ Sky Catalina ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กมาก ๆ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เมตร ที่กำลังเคลื่อนที่เข้ามาใกล้โลก
และนี้ก็เป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ดาวเคราะห์น้อยที่ถูกค้นพบก่อนที่มันจะกระทบเข้ากับโลก แต่ไม่ต้องตกใจไปมันมีขนาดที่เล็กพอ ๆ กับ ดาวเคราะห์น้อย 2008 TC3 มันจะถูกเผาไหม้โดยชั้นบรรยากาศของโลกจนหมดก่อนที่จะตกสู่พื้นโลกอยู่แล้ว ซึ่งนักดาราศาสตร์ได้สังเกตเห็นมันก่อนที่มันจะพุ่งเข้าใส่ชั้นบรรยากาศของโลกแค่เพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม มันจะถูกเผาไหม้จนหมดก่อนในบริเวณเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก ระหว่างทวีปอเมริกาใต้และแอฟริกา
ลูกไฟยักษ์เหนือแอฟริกาใต้
เมื่อไม่นานมานี้ วันที่ 2 มิถุนายน 2018 Richard Kowalski จาก Catalina Sky Survey (CSS) ได้พบเห็นดาวเคราะห์น้อยเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่มันจะตกลงสู่โลก ซึ่งได้ถูกค้นพบครั้งแรกโดย Mt Lemmon Survey (เป็นส่วนหนึ่งของ CSS) เวลา 09.32 UTC ซึ่งค้นพบก่อนที่มันจะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศใกล้เขตแดนของแอฟริกาใต้และบอตสวานาเป็นเวลา 7 ชั่วโมง
ดาวเคราะห์น้อยลูกนี้ถูกตั้งชื่อว่า 2018 LA มันมีขนาดเส้นผ่านศูนยก์กลางประมาณ 3 เมตร เดินทางด้วยความเร็วประมาณ 17 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยความที่มันพุ่งมาด้วยความเร็วที่มากขนาดนั้นเมื่อผ่านเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก มันก็ได้กลายเป็นลูกไฟสว่างบนท้องฟ้า และมีการระเบิดอย่างรวดเร็ว ซึ่งนั้นเป็นสัญญาณที่ดีว่าอุกกาบาตลูกนี้ไม่กระทบพื้นผิวโลก แต่มันก็ยังคงทิ้งเศษเล็ก ๆ มีมวลมากกว่า 600 กรัม ไว้ที่บริเวณทะเลทราย Nubian
และนี้ก็ยังเป็นครั้งที่ 3 ที่เราค้นพบดาวเคราะห์น้อยก่อนที่มันจะพุ่งเข้าใส่โลกของเรา และทั้งสามลูกถูกค้นพบโดย Richard Kowalski แห่งหอดูดาว Catalina Sky Survey และคลิปด้านล่างก็จะแสดงให้เห็นถึงวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย 2018 LA จากองค์กรนาซ่า
นอกจากนี้ทั้งในและนอกประเทศไทยของเรา ยังมีเหตุการณ์การตกของอุกกาบาตอีกไม่น้อยที่ไม่ได้กล่าวถึงมาในที่นี้ ถ้าจะให้กล่าวมาทั้งหมดคงจะมากเกินกว่าจะหาคำมาอธิบาย เกินกว่าจะเอาท้องฟ้ามาเขียนบรรยายให้ได้อ่านกัน เลยเลือกที่จะยกเอาอุกกาบาตที่เด่น ๆ มาแทน แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่หลวงอะไร ถ้าเทียบกับปัญหาที่เรากำลังใกล้ประสบพบเจอต่อจากนี้อีกไม่นาน
สรุปแล้วควรจะกลัวอุกกาบาตดีไหม
อย่างที่ทราบกันดีว่าโลกของเราถูกห่อหุ้มรอบ ๆ ไปด้วยชั้นบรรยากาศที่หนาแน่น ทำให้สิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ได้มีอากาศหายใจกัน ช่วยปรับอุณหภูมิบนพื้นผิวของโลกให้พอดี เหมาะสมแก่การดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต และช่วยป้องกันรังสีอันตรายต่าง ๆ ที่มาจากนอกโลก และยังช่วยป้องกันเราจากดาวเคราะห์น้อยอีกด้วย
การที่อุกกาบาตหรือดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็ก ๆ โคจรเข้ามาใกล้โลกนั้นไม่ได้มีความน่ากลัวเลย (เว้นเสียแต่ว่ามันจะมีขนาดใหญ่หลายกิโลเมตร และมาด้วยอัตราเร็วที่สูงมาก) เพราะด้วยความที่มันมีขนาดที่เล็กและโลกของเรามีชั้นบรรยากาศที่หนาแน่น คอยรองรับอุกกาบาตพวกนี้อยู่ และคอยปกป้องพวกเราอยู่ห่าง ๆ ดังนั้นอุกกาบาตหรือดาวเคราะห์น้อยที่โคจรเข้ามาในเขตโลกของเราก็จะถูกทำลายลงด้วยชั้นบรรยากาศของโลกเราจนหมดก่อนที่มันจะตกถึงพื้นโลกอยู่แล้ว
แต่จะมีใครบ้างที่รู้ว่าตอนนี้ชั้นบรรยากาศที่คอยปกป้องเราอยู่นั้นกำลังถูกทำร้ายโดยน้ำมือของคนที่มันปกป้องอยู่ มันคงจะรู้สึกเจ็บเหมือนโดนแทงเข้าข้างหลัง จุกจนพูดไม่ออกบอกไม่ได้ จนทำให้อากาศเริ่มร้อนขึ้น ๆ เรื่อย ๆ ทุกวัน ธารน้ำแข็งเริ่มละลายลง ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ 1 ปีโลกร้อนขึ้นแค่ไหน
หากพวกเราช่วยกันลดโลกร้อนคนละไม้คนละมือ ลดการทำร้ายบรรยากาศของโลกเราลงบ้าง โลกใบนี้ก็อาจจะน่าอยู่ขึ้น เย็นขึ้น และปกป้องเราได้นานมากยิ่งขึ้น ในเมื่อเรามีโลกเพียงใบเดียวเรามาร่วมกันรักษาโลกใบนี้ด้วยน้ำมือของเราด้วยกันตั้งแต่วันนี้กันเถอะ
อ้างอิง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น