วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2562

สนช. ยกเลิกยึด “ใบขับขี่”-ทำระบบบันทึกคะแนน ดี หรือไม่ดี



ที่ประชุมสนช.รับหลักการร่างกม.จราจร ยกเลิกอำนาจเจ้าหน้าที่ยึด “ใบขับขี่” เพิ่มช่องทางเสียค่าปรับ ขณะที่สมาชิกสนช.เสนอกำหนดในกฎหมายให้ชัดรองรับ “ใบขับขี่ดิจิทัล”
เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี พิจารณาร่างพ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่…) พ.ศ…ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ชี้แจงว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกรมการขนส่งทางบก ประสานจัดทำข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บันทึกประวัติและการทำผิดกฎหมายของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ ข้อมูลทะเบียนรถ รวมทั้งจัดให้มีบันทึกคะแนนความประพฤติของผู้ขับขี่ หากผู้ขับถูกตัดจนหมดจะถูกพักใบขับขี่ 90 วัน และเข้าอบรมวินัยจราจรกับกรมการขนส่งทางบก
พร้อมกันนั้น ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกอำนาจพนักงานจราจรในเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ และมีอำนาจในการตรวจใบอนุญาตขับขี่แทน
อย่างไรก็ตาม พนักงานจราจรยังมีอำนาจยึดใบขับขี่เป็นการชั่วคราว หากผู้ขับอยู่ในสภาพที่หากขับขี่แล้วอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของตนเองและผู้อื่น และให้คืนใบอนุญาตขับขี่เมื่อผู้ขับขี่อยู่ในสภาพที่ขับรถต่อไปได้ รวมทั้งมีอำนาจยึดใบอนุญาตขับขี่จากผู้ที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม เพื่อส่งให้นายทะเบียนเพื่อดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ต่อไป
นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ.เพิ่มช่องทางการเสียค่าปรับ โดยกำหนดให้ชำระค่าปรับได้ทั้งทางไปรษณีย์ ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ บัตรเครดิต หรือด้วยวิธีอื่นใดผ่านธนาคารหรือหน่วยบริการรับชำระเงิน หรือชำระค่าสถานีตำรวจทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน รวมทั้งยังรองรับการใช้ใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสนช.อภิปรายร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ และเห็นด้วยที่จะมีการปรับปรุงกฎหมายให้เป็นสากลและเพิ่มบทลงโทษ แต่ตั้งข้อสังเกตว่า ควรเพิ่มช่องทางให้ผู้ที่ถูกใบสั่งสามารถชี้แจงหรือปฏิเสธข้อกล่าวหาได้ เนื่องจากบางครั้งเป็นเหตุสุดวิสัย อย่างไรก็ตาม สมาชิกสนช. ตั้งข้อสังเกตว่า ร่างพ.ร.บ.ยังไม่มีความชัดเจนว่า หากมีการบังคับใช้ใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์แล้วยังต้องพกใบขับขี่ตัวจริงอีกหรือไม่ จึงเสนอให้มีการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการให้ชัดเจน
ทั้งนี้ ที่ประชุมสนช.มีมติเอกฉันท์ รับหลักการร่างพ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่…) พ.ศ…และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น