วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ผลวิจัยพบผู้บริหารในวงการศึกษาทุจริตจนเป็นวัฒนธรรม

ผลวิจัยพบผู้บริหารในวงการศึกษาทุจริตจนเป็นวัฒนธรรม


ขอนแก่น- นักวิชาการมข.เผย ผลการวิจัยการทุจริตในวงการศึกษา 3 จังหวัดอีสานกลาง พบผู้บริหารสถานศึกษา นักการเมือง นักธุรกิจ ร่วมกันทุจริต จนกลายเป็นวัฒนธรรม ฝังรากลึกในสังคม โดยหากมีโอกาสจ้องทุจริตได้ทุกกรณี แถมมีอดีตผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาชื่อดังบางแห่ง เรียกรับเงินใต้โต๊ะจนร่ำรวย เป็นมหาเศรษฐี แต่การสอบสวนภาครัฐกลับเอาผิดไม่ได้
จากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในวงการศึกษา ทั้งเรื่องการทุจริตโครงการอาหารกลางวัน ทุจริตเรื่องการซื้อหนังสือ อุปกรณ์การเรียน จนเป็นข่าวโด่งดังอยู่ในขณะนี้ เรื่องนี้ รศ.ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้ทำวิจัย” เรื่อง การศึกษาเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ ของภาคการศึกษา กรณีศึกษา โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขตที่ 24 , 25 ,26 (กาฬสินธุ์ , ขอนแก่น ,มหาสารคาม)”  โดยได้ทำการศึกษาในช่วงปี 2560-2561 ที่ผ่านมา และพบว่ามีการทุจริตในหลายรูปแบบ จนทำให้ผู้บริหารสถานศึกษาบางรายร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐกิจ
 รศ.ดร.พรอัมรินทร์ ได้เปิดเผยผลการวิจัยว่า  การทุจริต คอร์รัปชันในวงการศึกษาพบว่ามีหลายรูปแบบมาก ทั้งรูปแบบและลักษณะความร่วมมือการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษาเครือข่าย กลุ่มอิทธิพล มี 2 กลุ่มใหญ่ คือ การทุจริตจากการจัดซื้อจัดจ้าง การก่อสร้าง และการจัดซื้อวัสดุ คุรุภัณฑ์ทางการศึกษา การทุจริตคอร์รัปชันจากระบบบริหารงานบุคคล การทุจริตคอร์รัปชันจากการรับนักเรียนเข้าสถานศึกษา การทุจริตจากการเบี่ยงเบนงบประมาณที่ได้รับจากส่วนกลาง และเงินอุดหนุนประเภทต่าง ๆ นอกจากนั้นยังมีการทุจริตจากระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ครู การก่อสร้างสนามฟุตซอล และอื่น ๆ อีกมากมาย
โดยการทุจริตจะทำเป็นเครือข่าย เรียกว่าเครือข่ายอิทธิพล ประกอบด้วย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในกรม กระทรวง และเขตพื้นที่การศึกษา ลงมาถึงผู้อำนวยการโรงเรียน หากเป็นโครงการใหญ่ ๆ จะมี นักการเมือง นักธุรกิจ พ่อค้า ผู้รับเหมาเข้ามาร่วมในวงจรเครือข่ายผู้มีอิทธิพลด้วย โดยเฉพาะเรื่องการก่อสร้าง ซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินของผู้มีอำนาจ โดยมีการขอเปอร์เซ็นต์กันเฉลี่ยที่ 30 เปอร์เซ็นต์ ผู้เกี่ยวข้องหลักในกระบวนการทุจริตในการก่อสร้างกลุ่มแรกคือผู้บริหารสถานศึกษาเพราะมีอำนาจในการกำหนดสเปคงาน พิจารณาอนุมัติงบประมาณก่อสร้างได้ โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดใหญ่ ผู้บริหารสถานศึกษาถือเป็นผู้มีอิทธิพล เพราะนั่งหลายเก้าอี้ มีเงินในมือ และเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ได้
นอกจากนั้นยังพบการทุจริตในการจัดซื้อหนังสือ วัสดุ  และคุรุภัณฑ์ รายใหญ่จะมีเครือข่ายอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตั้งแต่ระดับนโยบาย ซึ่งเชื่อมโยงกับนักการเมือง นักธุรกิจ ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม. ) ลงมาถึงผู้บริหารสถานศึกษาในระดับโรงเรียน รูปแบบการทุจริตเห็นได้ชัด ว่า หากกระทรวงมีการอนุมัติงบประมาณการจัดซื้อหนังสือ วัสดุ คุรุภัณฑ์ลงมา แม้ผู้บริหารบางโรงเรียนไม่ได้ต้องการวัสดุดังกล่าว แต่จำเป็นต้องรับ เพราะถูกสั่งการลงมา จากการศึกษาวิจัยพบว่าทำให้เกิดการฮั้วประมูลเต็มรูปแบบ ล็อคสเปคหนังสือตำรา วัสดุคุรุภัณฑ์ทางการศึกษา การหาประโยชน์จากส่วนต่างของราคา เคยมีคนให้ข้อมูลพบว่าที่จังหวัดแห่งหนึ่งจับการทุจริตได้ทำให้รัฐได้เงินคืนกว่า 30 ล้านบาท  และนอกจากนั้นยังมีรูปแบบทุจริตแบบจัดซื้อจัดจ้างอำพราง โดยมีการ ทำโครงการเอางบประมาณมาใช้ แต่ไม่มีการก่อสร้างอะไร เป็นการหลอกลวง โดยรูปแบบนี้มีค่อนข้างเยอะ แต่ที่เยอะมากคือการซื้อใบเสร็จแลกเงินสด ด้วยการออกใบเสร็จซื้อวัสดุสิ้นเปลืองเพราะสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินหรือ สตง.ตรวจสอบไม่ได้ เช่นอยากได้เงิน 5 หมื่นบาท ก็ให้ร้านออกใบเสร็จมา 5 หมื่นแต่จ่ายเงินซื้อใบเสร็จนั้นแค่ 5 พัน ร้านค้าก็ยอมเพราะได้เงินแต่ไม่ต้องเสียของให้ ถือเป็นการสมประโยชน์ทั้งสองฝ่ายและทำกันมาก

จากการศึกษาวงจรทุจริตแบบนี้พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษาบางรายในโรงเรียนชื่อดังของจังหวัดแห่งหนึ่งพอเกษียณและพ้นจากตำแหน่งกลายเป็นมหาเศรษฐี บางคนมีทรัพย์สินเป็นร้อยล้านบาท ว่ากันว่าวันสำคัญ ๆ กระเช้าของขวัญที่มีคนให้มาด้านบนเป็นของขวัญแต่ด้านล่างมีเงินวางเต็มไปหมด แต่เรื่องแบบนี้ตรวจสอบไม่เจอแม้จะมีการร้องเรียน เพราะระบบการตรวจสอบของไทยหย่อนยาน เจ้าหน้าที่ ปปช. ปปท. สตง.เข้าไม่ถึง ไม่สามารถลงไปหาข้อมูลเหล่านี้ได้ แต่การวิจัยได้ข้อมูลจากการไปสอบถามคนแวดล้อม และคนที่เคยใกล้ชิด จึงได้ข้อมูลเหล่านี้ได้มาจากการศึกษาเชิงลึก

“ตอนนี้สังคมไทยเดินทางมาถึงจุดที่ผู้มีอำนาจทุกระดับ ถ้าเขามีโอกาส เขาจะทุจริต เขาคิดเรื่องการทุจริตทุกลมหายใจ ไม่เว้นแม้แต่ผู้บริหารสถานศึกษาที่มาจากสายพระ หรือเคยบวชเรียนมาก่อน เป็นเจ้าอาวาส เป็นเจ้าคณะอำเภอมาก่อน เพราะผู้มีอำนาจ มองการทุจริตเป็นเรื่องธรรมดาจนกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว” รศ.ดร.พรอัมรินทร์ กล่าว และว่า

 

ส่วนเรื่องการทุจริตอาหารกลางวันเป็นตัวอย่างรายเล็กรายน้อยเท่านั้น เพราะรายใหญ่ ๆไปอยู่ที่การก่อสร้าง การซื้อหนังสือ วัสดุ  คุรุภัณฑ์มากกว่า รวมไปถึงเรื่องสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่มีอยู่ในทุกจังหวัด ยิ่งมีเงินเยอะ ยิ่งมีการทุจริตเยอะ ผู้จัดการสหกรณ์บางราย ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี แถมยังเกี่ยวพันกับเรื่องการเมือง จนกลายเป็นผู้มีอิทธิพลไปแล้ว

ส่วนการป้องกันกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันนั้น รศ.ดร.พรอัมรินทร์ กล่าวว่า ต้องสนับสนุน กลไกเครือข่ายภาคประชาสังคม การสร้างกลไกแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันของบุคลากรทางการศึกษา การป้องกันด้านกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้เรากล้าที่จะมองเรื่องการทุจริตเป็นความผิด อย่ามองว่าเป็นแค่เรื่องปกติ.

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น