วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ศาลคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น " ข้าวหมาก "



ศาลคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น




ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 8 : 6 ให้ถอดแป้งข้าวหมาก ออกจาก พ.ร.บ.สุราฯ ระบุละเมิดภูมิปัญญาชาวบ้าน และการประกอบอาชีพ ด้านผู้ผลิตเฮ ชี้อนาคตตลาดแป้งหมากสดใส แนะรัฐไม่ต้องหวั่นเกรงว่าจะมีการลักลอบนำไปทำเหล้าเถื่อน

นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ รองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ที่ประชุมคณะตุลาการเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.สุรา 2593 มาตรา 24 และ 26 ซึ่งมีข้อความว่า "เชื้อสุรา" ที่หมายความรวมถึง "แป้งข้าวหมัก" (แป้งข้าวหมาก) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 50

คดีดังกล่าว ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไวยวัฒน์ ได้รับอนุญาตให้ทำ และขายข้าวหมัก ตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งการขอและต่อใบอนุญาต กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนฯ ไวยวัฒน์ ต้องทำสัญญาไว้ต่อเจ้าพนักงานของกรรมสรรพสามิต ว่า จะต้องค้าแป้งข้าวหมักในสถานที่ที่ตั้งสำนักงานของห้างหุ้นส่วนที่ขอเท่า นั้น รวมทั้งจะต้องซื้อแป้งข้าวหมักจากร้าน หรือที่ทางการกำหนดไว้เท่านั้น และจะต้องลงบัญชีรับจ่ายแป้งข้าวหมักทุกครั้งที่มีการซื้อมาขายไป

ห้างหุ้นส่วน ไวยวัฒน์ เห็นว่า ระเบียบดังกล่าว ทำให้ห้างหุ้นส่วน ไวยวัฒน์ ไม่สามารถทำธุรกิจค้าแป้งข้าวหมักได้โดยเสรีทั่วประเทศ เพราะติดระเบียบกรมสรรพสามิต ว่าด้วยการทำและขายแป้งข้าวหมักพ.ศ. 2542

ห้างหุ้นส่วนฯ เห็นว่า รัฐธรรมนูญได้บัญญัติเรื่อง การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ในการประกอบอาชีพ และอนุรักษ์ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งการประกอบธุรกิจผลิตและขายแป้งข้าวหมาก ถือเป็นการขายภูมิปัญญาท้องถิ่น สมควรได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญด้วย จึงได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

ต่อมาศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง ห้างหุ้นส่วน ไวยวัฒน์ จึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เป็นคำร้องที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ จึงได้ส่งเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย โดยชะลอการพิจารณาคดีไว้ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เห็นว่า มาตรา 24 และ 26 ของพ.ร.บ.สุรา 2493 ข้อความที่ระบุว่า เชื้อสุรา หมายรวมถึงแป้งข้าวหมัก ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 และไม่สามารถใช้บังคับได้อีกต่อไป เนื่องจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า มาตรา 50 บัญญัติให้บุคคลมีเสรีภาพในการประกอบกิจการประกอบอาชีพ และแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม การจำกัดเสรีภาพในการกระทำเหล่านี้จะกระทำไม่ได้

ซึ่งคำว่าเชื้อสุรานั้น เมื่อดูนิยามของความหมายใน มาตรา 4 ของ พ.ร.บ.สุรา ระบุให้หมายความว่า แป้งเชื้อสุรา แป้งหมัก หรือเชื้อใดๆ ซึ่งเมื่อหมักกับวัตถุ ของเหลวอื่นแล้ว สามารถทำให้เกิดแอลกอฮอล์ที่ใช้ทำสุราได้ก็ตาม แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า แป้งข้าวหมักมีลักษณะที่ไม่ใช่เชื้อสุราในตัวเอง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น อาหาร ยา

ดังนั้น การที่มาตรา 24 บัญญัติว่า ทำหรือขายเชื้อสุรา ที่มีความหมายรวมถึงแป้งข้าวหมัก จึงเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 รวมทั้งยังเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 ที่บัญญัติให้บุคคลซึ่งรวมตัวกับเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น และของชาติด้วย แต่เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีบทกฎหมายบัญญัติรองรับมาตราดังกล่าว จึงไม่สามารถอ้างได้ว่า มาตรา 24 ขัดหรือแย้งกับ มาตรา 46

รายงานข่าวแจ้งว่า ในระหว่างการประชุม คณะตุลาการได้หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับการผลิต และจำหน่ายยีสต์ ซึ่งถือว่าเป็นเชื้ออย่างหนึ่ง เมื่อนำมาหมักและก่อให้เกิดเป็นสุรา หรือที่เรียกว่าไวน์ได้เช่นกัน ซึ่งการจำหน่ายยีสต์ดังกล่าว ในขณะนี้ก็มีการเปิดจำหน่ายอย่างเสรี และจำหน่ายโดยทั่วไป ดังนั้น การจำกัดการผลิต และการจำหน่ายแป้งข้าวหมาก ตามที่พ.ร.บ.สุราระบุไว้ โดยอ้างว่าเหตุที่จะต้องควบคุมให้ขออนุญาต เพราะไม่ต้องการให้มีการนำไปผลิตสุราเถื่อน ซึ่งความเป็นจริงแล้ว หากจะเอาแป้งข้าวหมักไปผลิตเป็นสุรา ก็มีดีกรีเพียงแค่ 5 ดีกรีเท่านั้น ถือว่าน้อยมาก

ด้านนายสุวัฒน์ บุพฤทธิ์ เจ้าของห้างหุ้นส่วน ไวยวัฒน์ กล่าวว่า หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในเรื่องนี้แล้ว คิดว่าน่าจะทำให้การผลิตอาหาร และยารักษาโรค ที่จะต้องใช้แป้งข้าวหมักเป็นส่วนผสม น่าจะดีขึ้นในอนาคตเพราะที่ผ่านมา ผู้ผลิตมีปัญหาในเรื่องการผลิตและจำหน่าย ที่ไม่สามารถจำหน่ายนอกพื้นที่ ที่ได้ยื่นขออนุญาตไว้

"ผมทราบว่าโรงงานที่ผลิตแป้งข้าวหมักทั่วประเทศ จนถึงขณะนี้มีอยู่ไม่ถึง 10 แห่ง สิ่งที่ทางราชการกลัวว่า หากอนุญาตให้จำหน่ายนอกพื้นที่ ที่ขออนุญาตได้ จะนำไปผลิตสุราเถื่อน เรื่องดังกล่าว คิดว่าคงจะไม่คุ้มต้นทุน เนื่องจากผู้ที่ต้องการผลิตสุราเถื่อน ไม่นิยมนำแป้งข้าวหมักมาใช้ในการผลิต เพราะจะดูแลยาก อีกทั้งตัวแป้งข้าวหมัก จะต้องควบคุมอุณหภูมิ ผู้ผลิตส่วนใหญ่จึงนิยมใช้ส่าเหล้า มาใช้ในการผลิตสุราเพราะง่ายกว่า" นายสุวัฒน์ กล่าว

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น