วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ที่มาของคนอีสานมาจากไหน? ประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,000 ปี แชร์บอกลูกบอกหลานเรา

ไทยอีสาน เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ พูดภาษาไทย-ลาว (ภาษาอีสาน) เป็นกลุ่มผู้นำทางด้านวัฒนธรรมภาคอีสาน เช่น ฮีต คอง ตำนาน อักษรศาสตร์ จารีตประเพณี นิยมตั้งหมู่บ้านเป็นกลุ่มบนที่ดอน เรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า “โนน” ยึดทำเลเพื่อการทำนาเป็นอาชีพสำคัญ อาศัยอยู่ทั่วไป
เรื่องถิ่นเดิมของชาติพันธุ์ลาวมีแนวคิด 2 อย่าง ซึ่งก็มีเหตุผลสนับสนุนพอ ๆ กันคือ
1. ถิ่นเดิมของลาวอยู่ที่ภาคอีสานนี่เอง ไม่ได้อพยพมาจากไหน
ถ้าเหมาว่าคนบ้านเชียงคือลาว ก็แสดงว่าลาวมาตั้งหลักแหล่งที่บ้านเชียงมากกว่า 5600 ปีมาแล้ว เพราะอายุหม้อบ้านเชียงที่พิสูจน์โดยวิธีคาร์บอน 14 บอกว่าหม้อบ้านเชียงอายุเก่าแก่ถึง 5600 ปี กว่าคนบ้านเชียงจะเริ่มตีหม้อใช้ในครัวเรือน ก็ต้องสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยก่อนหน้านั้นแล้ว แนวความคิดนี้ยังบอกอีกว่านอกจากลาวจะอยู่อีสานแล้ว ยังกระจายไปอยู่ที่อื่นอีก เช่น เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น ยุโรป แล้วข้ามไปทวีปอเมริกาเป็นพวกอินเดียนแดง.
2. ถิ่นเดิมของลาวอยู่ที่ภาคอีสานและมีมาจากที่อื่นด้วย (อภิศักดิ์ โสมอินทร์. 2540 : 69)
แนวคิดนี้เชื่อว่า คนอีสานน่าจะมีอยู่แล้วในดินแดนที่เรียกว่า “อีสาน”หรือส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมิ โดยประมาณ 10,000.- ปีที่ผ่านมา นักมานุษยวิทยา และนักประวัติศาสตร์ได้สันนิษฐานว่า ได้มีการอพยพของพวกละว้า หรือข่าลงมาอยู่ในแดนสุวรรณภูมินับเป็นคนพวกแรกที่เข้ามา พอเข้ามาอยู่สุวรรณภูมิก็แบ่งเป็นอาณาจักรใหญ่ ๆ 3 อาณาจักร คือ อาณาจักรทวารวดี ซึ่งมีนครปฐมเป็นราชธานี มีอาณาเขตถึงเมืองละโว้(ลพบุรี) อาณาจักรที่สองคือโยนก เมืองหลวงได้แก่เมืองเงินยาง หรือเชียงแสน มีเขตแดนขึ้นไปถึงเมืองชะเลียงและเมืองเขิน อาณาจักรที่สามคือโคตรบูร ได้แก่บรรดาชาวข่าที่มาสร้างอาณาจักรในลุ่มน้ำโขง มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองโคตรบูรณ์ ซึ่งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง
พระธาตุพนม
ชาวเมืองหนองหาน
ภาพถ่ายอีสานโบราณ สตรีในวงศ์เจ้าเมืองนครพนม ถ่ายภาพที่สกลนคร มณฑลอุดร ปีค.ศ. 1907
จากแนวคิดที่ 2 จะเห็นว่าในคำรวมที่นักมานุษยวิทยา และ นักประวัติศาสตร์เรียกว่า “คนอีสาน” นั้นน่าจะมีคนหลายกลุ่มหลายชาติพันธุ์ปะปนกันอยู่ และในหลายกลุ่มนั้นน่าจะมีกลุ่มชาติพันธุ์“ลาว”อยู่ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานจากงานเขียนของนักวิชาการบางคนที่กล่าวว่า หลังจากพวกละว้าหรือพวกข่าหมดอำนาจลง ดินแดนอีสานก็ถูกครอบครองโดยขอมและอ้ายลาว ต่อมาขอมก็เสื่อมอำนาจลง ดินแดนส่วนนี้จึงถูกครอบครองโดยอ้ายลาวมาจนถึงปัจจุบัน
พระธาตุหลวงเวียงจันทน์
การรักษาผู้ป่วยด้วยความรู้ความเชื่อในท้องถิ่น, หลวงพระบาง
ถ้าเป็นอย่างนี้จริงจึงสรุปได้ว่า “อ้ายลาว” ก็คือกลุ่มชาติพันธุ์ลาวนั่นเอง อ้ายลาวเป็นสาขาหนึ่งของมองโกลเดิม อยู่ทางตอนบนของแม่น้ำแยงซีเกียงและแม่น้ำเหลือง (ปัจจุบันมีชาว“จ้วง” ในมณฑลกวางสีราว 18 ล้านคน ที่มีสำเนียงภาษาพูดคล้ายคลึงกับคนไทยอีสานมาก,ดูคลิปวีดิโอแนบท้ายบทความ) ก่อนที่จะอพยพเข้าครอบครองอีสานนั้นได้รวมตัวกันตั้งเมืองสำคัญขึ้น 3 เมือง คือ นครลุง นครเงี้ยว และนครปา
ต่อมากลุ่มอ้ายลาวเกิดสู้รบกับจีน สาเหตุเพราะจีนมาแย่งดินแดน อ้ายลาวสู้จีนไม่ได้จึงอพยพลงใต้ถอยร่นลงมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาตั้งอาณาจักรอยู่บริเวณ”ยูนาน”ในปัจจุบัน (ยูนนานเป็นส่วนหนึ่งของอุษาคเนย์ ทั้งภูมิประเทศและอากาศทางใต้ของยูนนานคล้ายลาว ไทย พม่า และเวียดนามมากกว่าจีน คนพื้นเมืองก็คล้ายๆ คนอีสาน รวมไปถึงภาษาพูดก็มีส่วนคล้ายกัน) มีเมืองแถนเป็นศูนย์กลางสำคัญ แต่ก็ยังถูกรุกรานแย่งชิงจากจีนไม่หยุดหย่อน
อ้ายลาวจึงอพยพลงมาตั้งอาณาจักรใหม่อีก คือ อาณาจักรหนองแส มีขุนบรมวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอ้ายลาวเป็นผู้ปกครองขุนบรมขึ้นครองราชย์ พ.ศ.1272 ได้รวบรวมผู้คนเป็นปึกแผ่น และส่งลูกหลานไปครองเมืองต่าง ๆ ในบริเวณนั้นลูกหลานที่ส่งไปครองเมืองมี 7 คน คือ
1. ขุนลอ ครองเมืองชวา คือ หลวงพระบาง
2. ขุนยีผาลาน ครองเมืองหอแตหรือสิบสองพันนา
3. ขุนสามจูสง ครองเมืองปะกันหรือหัวพันทั้งห้าทั้งหก
4. ขุนไขสง ครองเมืองสุวรรณโดมคำ
5. ขุนงัวอิน ครองเมืองอโยธยา (สุโขทัย)
6. ขุนลกกลม ครองเมืองมอญ คือ หงสาวดี
7. ขุนเจ็ดเจือง ครองเมืองเชียงขวางหรือเมืองพวน
พี่น้องอ้ายลาวทั้ง 7 ปกครองบ้านเมืองแบบเมืองพี่เมืองน้องมีอะไรก็ช่วยเหลือเจือจุนกันโดยยึดมั่นในคำสาบานที่คำสัตย์ปฏิญาณร่วมกันว่า “ไผรบราแย่งแผ่นดินกัน ขอให้ฟ้าผ่ามันตาย”สำหรับ กลุ่มอ้ายลาวนี้น่าจะเกี่ยวโยงเป็นกลุ่มเดียวกับคนชาติพันธุ์ลาวในอีสาน น่าจะเป็นกลุ่มลาวเชียงและลาวเวียง คือ กลุ่มจากอาณาจักรล้านนา (ลาวเชียง) และกลุ่มจากอาณาจักร ล้านช้าง (ลาวเวียง) ในพุทธศตวรรษที่ 17–18 เริ่มตั้งแต่สร้างเมืองชวาหรือเมืองหลวงพระบาง มีกษัตริย์ปกครองติดต่อกันมาถึง 22 องค์
กษัตริย์องค์หนึ่งคือพระเจ้าเงี้ยว ได้กำเนิดลูกชายคือพระเจ้าฟ้างุ้ม พระเจ้าฟ้างุ้ม เกิดมามีฟันเต็มปาก เสนาอำมาตย์ในราชสำนักเห็นเป็นอาเพศจึงทูลให้พระบิดานำไป “ล่องโขง” คือลอยแพไปตามลำน้ำโขง มีพระเขมรรูปหนึ่งพบเข้าเกิดเมตตาเอาพระเจ้าฟ้างุ้มไปชุบเลี้ยงจนเติบใหญ่แล้วถวายตัวในราชสำนักเขมรพระเจ้าฟ้างุ้มได้รับการศึกษาอบรมอย่างองค์ชายเขมร และทรงเป็นราชบุตรเขยของกษัตริย์เขมรด้วย เมื่อพระเจ้าฟ้าเงี้ยวสิ้นพระชนม์ เจ้าฟ้าคำเสียวผู้เป็นน้องชายขึ้นครองราชย์แทน พระเจ้าฟ้างุ้มจึงยกทัพจากเขมรทวงราชสมบัติของบิดาคืน สามารถโจมตีเมืองหลวงพระบางได้ เจ้าฟ้าคำเลียวเสียทีแก่หลานสู้ไม่ได้ น้อยใจจึงกินยาพิษตาย
เจ้าฟ้างุ้มจึงขึ้นครองเมืองหลวงพระบางเมื่อ พ.ศ. 1896 ทรงพระนามว่า “พระยาฟ้างุ้มแหล่งหล้าธรณี” พระเจ้าฟ้างุ้มเป็นกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถมาก เป็นนักรบผู้กล้าหาญชาญฉลาด ในช่วงนั้นอาณาจักรสุโขทัยมีพระมหาธรรมราชาลิไทเป็นกษัตริย์ พระเจ้าฟ้างุ้มได้ขยายอำนาจแผ่ไปถึงญวน ลงมาถึงส่วนหนึ่งของเขมรตอนล่างและเข้ามาสู่ดินแดนอีสานได้อพยพผู้คนจากเวียงจันทน์มาอยู่บริเวณเมืองหนองหาน และหนองหานน้อยประมาณ 10,000 คน
พระเจ้าฟ้างุ้มครองราชย์และแผ่แสนยานุภาพเรื่อยมาจนถึงสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) แห่งกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าฟ้างุ้มคิดแผ่แสนยานุภาพเข้าครอบครองกรุงศรีอยุธยา ทำให้พระเจ้าอู่ทองต้องเจรจาหย่าศึกโดยอ้างความเป็นญาติร่วมวงศ์ขุนบรมเดียวกันว่า “เฮาหากแมนอ้ายน้องกันมาแต่ขุนบรมพุ้น หากเจ้าเป็นลูกหลานขุนบรมจริง เฮาอย่ามารบราฆ่าฟันกันเลย ดินแดนส่วนที่อยู่เลยดงสามเส้า (ดงพญาไฟ ไปจดภูพระยายาฝอและแดนเมืองนครไทยให้เป็นของเจ้า ส่วนที่อยู่เลยดงพญาไฟลงมาให้เป็นของข้อย แล้วจัดส่งลูกสาวไปจัดที่อยู่ที่นอนให้” (ทองสืบ ศุภมารค: อ้างใน สมเด็จพระสังฆราชลาวง2528:43)
พระเจ้าอู่ทองยัง ได้ส่งช้างพลาย 51 เชือก ช้างพัง 50 เชือก เงินสองหมื่น นอแรดแสนนอ กับเครื่องบรรณาการอื่น ๆ อีกอย่างละ 100 ให้แก่พระเจ้าฟ้างุ้ม จากหลักฐานนี้อาณาจักรลานช้างจึงมีอำนาจครอบครองดินแดนอีสาน ยกเว้นเมืองนครราชสีมาที่ยังคงเป็นอิสระอยู่เพราะในหนังสือ “King of Laos” ระบุว่าในปี ค.ศ. 1385 อาณาเขตกรุงล้านช้างทางทิศตะวันตกติดต่อกับโคราช(นครราชสีมา)
ดินแดนอีสานส่วนใหญ่ตกอยู่ในอำนาจของพระเจ้าฟ้างุ้มเรื่อยมาจนถึงสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (ลาวเขียนไชยเสฏฐามหาราช) ขึ้นครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2091–2114 ได้ย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางมาอยู่เวียงจันทน์ พระองค์ได้ทำสัญญาพันธมิตรกับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา และทั้งสองได้สร้างพระธาตุศรีสองรัก ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นเขตแดนระหว่างสองอาณาจักร กษัตริย์องค์นี้ได้สร้างวัดองค์ดื้อ และศาสนสถานต่าง ๆ ในเขตเมืองหนองคาย และบูรณะพระธาตุพนมด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชสนใจดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงมากกว่าสมัยก่อน ๆ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2250 เกิดการแก่งแย่งอำนาจขึ้นในลาว ทำให้ลาวถูกแบ่งออกเป็น 2 อาณาจักร มีหลวงพระบางและเวียงจันทน์เป็นศูนย์กลาง และในปี พ.ศ. 2256 อาณาเขตเวียงจันทน์ทางใต้ได้ถูกแบ่งแยกโดยเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร (เจ้าหน่อกษัตริย์) มีเมืองนครจำปาศักดิ์เป็นเมืองหลวง ผู้ครองนครจำปาศักดิ์ได้ส่งจารย์แก้ว (เจ้าแก้วมงคล) มาเป็นเจ้าเมืองท่งหรือเมืองทุ่ง ในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด นับว่านครจำปาศักดิ์ได้ขยายอำนาจเข้ามาสู่ลุ่มแม่น้ำมูล – ชี ตอนกลาง
เวลาต่อมาลูกหลานเจ้าเมืองท่งหรือเมืองสุวรรณภูมิได้สร้างเมืองต่าง ๆ ในดินแดนอีสานมากกว่า 15 เมือง (อภิศักดิ์ โสมอินทร์. 2540 : 71) เช่น สุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ มหาสารคาม ชนบทขอนแก่น ฯ ล ฯ ต่อมาเกิดความไม่ลงรอยแตกแยกกัน ระหว่างกลุ่มขุนนางและกษัตริย์ลาวผู้คนได้อพยพหนีภัยการเมืองจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเข้าสู่อีสานเหนือ กลุ่มสำคัญได้แก่
กลุ่มเจ้าผ้าขาว โสมพะมิตร
กลุ่มนี้อพยพผู้คนมาตั้งอยู่ริ่มน้ำปาว คือ บ้านแก่งส้มโฮง (สำโรง) เจ้าโสมพะมิตรได้เข้าเฝ้ารัชกาลที่ 1 ที่กรุงเทพ ฯ เพื่อถวายความจงรักภักดี และเนื่องจากมีกำลังคนถึง4,000 คน รัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าให้ยกบ้านแก่งส้มโฮงเป็นเมืองกาฬสินธุ์ขึ้นตรงต่อกรุงเทพและเจ้าโสมพะมิตรได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาไชยสุนทร” เจ้าเมืองกาฬสินธุ์
กลุ่มพระวอพระตา
พระวอพระตาเป็นเสนาบดีลาว เกิดขัดใจกษัตริย์เวียงจันทน์ อพยพผู้คนข้ามโขงมาอยู่ที่หนองบัวลุ่มภูซึ่งเป็นเมืองอยู่ก่อนแล้ว ตั้งชื่อเมืองว่า “นครเขื่อนขันฑ์กาบแก้วบัวบาน” แต่ได้ถูกกองทัพลาวตามตีจนพระตาตายที่รบ ส่วนพระวอได้พาบริวารไพร่พลหนีลงไปตามลำแม่น้ำโขงจนถึงดอนมดแดง และต่อมาลูกหลานของพระวอได้ขอตั้งเป็นเมืองอุบลราชธานี และเมืองยโสธร

กลุ่มท้าวแล ท้าวแลและสมัครพรรคพวกได้อพยพหนีภัยการเมืองจากเวียงจันทน์ มาอยู่ในท้องที่เมืองนครราชสีมา ต่อมาได้ย้ายไปทางตอนเหนือแล้วขอตั้งเป็นเมืองชัยภูมิ ท้าวแลได้รับโปรดเกล้าให้เป็นเจ้าเมือง มีบรรดาศักดิ์ว่า “พระภักดีชุมพล” ต่อมาได้เลื่อนเป็น “พระยาภักดีชุมพล”การตั้งบ้านเมืองในดินแดนอีสานตั้งแต่พุทธศตวรรษ 24-25 หรือตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีเมืองต่าง ๆ เกิดขึ้นมากกว่า 100 เมือง มีแบบแผนการปกครองตามแบบหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์คือมีตำแหน่งอาชญาสี่คือ เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ส่วนเมืองในเขตอีสานใต้คือนครราชสีมาและหัวเมืองเขมรป่าดง ได้ใช้แบบแผนการปกครองแบบกรุงเทพ ฯ คือมีเจ้าเมือง ปลัดเมือง ยกกระบัตรเมือง และผู้ช่วยราชการเมือง
จากหลักฐานของลาวสามารถกล่าวได้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ลาว ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในอีสานมานานแล้ว จึงสรุปได้ว่า คนในท้องถิ่นอีสาน หรือบริเวณนี้เป็นเชื้อสายลาว ซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนาน สืบทอดสายธารทางประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และตลอดไปในอนาคตอีกนานเท่านาน
ภาพถ่ายชาวไทยอีสานโบราณ










**โปรดแชร์เก็บไว้ ให้ลูกหลานเราได้จดจำ..เด้อพี่น้องไทยอีสานบ้านเฮา  ** 
แหล่งที่มา : https://todaynewsth.com/onsornisan/archives/3144

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น